ของเล่นเพื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัย 0-3 ปี

ของเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีความต้องการพิเศษวัย 0-3ปี


       ของเล่นหรือการเล่น มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ ของเด็กอย่างมาก ถือว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะนำไปสู่กระบวน การเรียนรู้ของเด็กในอนาคต ดั้งนั้นถ้าพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ได้เข้าใจ และสามารถนำของเล่น หรือกิจกรรมการเล่นไปใช้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ทักษะพัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็ก จะก้าวไปอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเด็กมีพื้นฐานทางพัฒนาการที่ดี และเหมาะสมกับวัย เด็กจะสามารถ นำประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาไปประยุกต์ใช้ กับการเรียนรู้ในอนาคตได้ อย่างมีคุณภาพ



พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กวัย 0-3 ปี

      เด็กวัยนี้เรียนรู้ผ่านการเล่น และเรียนรู้ผ่านทางการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตาดู หูฟัง จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส และผิวหนังรับสัมผัส ในวัยนี้เด็กมักชอบนำของทุกชนิดเข้าปาก โดยใช้ปากในการสำรวจของนั้นๆ ทั้งดูด เลีย อม พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ทักษะเหล่านี้ โดยหาของเล่นที่มีขนาดเหมาะมือ น้ำหนักเบา ขนาดไม่เล็กจนเกินไป ปลอดภัย ล้างทำความสะอาดง่าย เพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะ ในการใช้มือและตาประสานกัน ในการคว้าจับ เขย่า เอาเข้าปาก พ่อ แม่หรือผู้เลี้ยงดู ไม่ควรดึงมือหรือของเล่นออกจากปากเด็ก เพราะจะทำให้เด็กหงุดหงิด อารมณ์เสีย และขาดโอกาสในการใช้ปากสำรวจเพื่อการเรียนรู้ และที่สำคัญพ่อแม่ควรพูดคุย และมีปฎิสัมพันธ์กับลูก ขณะชี้ชวนให้ลูกเล่นอีกด้วย
 
 เด็กที่มีความต้องการพิเศษ อาจมีความบกพร่องทางพัฒนาการ จำเป็นต้องกระตุ้น การเรียนรู้ของเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังต้องกระตุ้นการเรียนรู้ ด้วยการใช้ของเล่นที่มีความหลากหลายเพื่อสร้างทักษะ และประสบการณ์ต่างๆ ให้แก่เด็กเหล่านี้ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมและต้องคำนึงถึงปัญหา ความต้องการและระดับพัฒนาการของเด็กแต่ละรายด้วย

     ถึงแม้ว่าพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงตามอายุก็ตาม แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ไม่เหมือนกับเด็กปกติ  เด็กพิเศษเหล่านี้ก็สามารถ พัฒนาศักยภาพของตนได้ และอาจจะมีพฤติกรรมของพัฒนาการ ที่แตกต่างกันออกไปตามปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เด็กบางคนอาจคืบ แต่ไม่คลาน แต่จะนั่งและยืน เดินเลย  บางคนอาจรู้จัก ไขว่คว้าของเล่น ในทิศทางต่างๆ กัน ชอบเอาของเล่นเข้าปาก แต่บางคนก็ทำไม่ได้     

     ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยเหลือ ฟื้นฟูศักยภาพของเด็กให้เต็มที่  โดยอาจนำของเล่นให้เด็กได้จับสัมผัส หรือกกระตุ้นให้เด็กได้มีโอกาสนำของเล่น  / วัสดุต่าง ๆ เข้าปาก เพื่อ กัด, ย้ำ ,เลียเล่น ซึ่งทักษะเหล่านี้ถือเป็นการเรียนรู้ของเด็ก โดยการใช้ปากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้  ในการสัมผัสวัตถุ  / ของเล่น การใช้ตา และมือประสานงานกัน สามารถจับวัตถุ / ของเล่น เข้าปาก ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และได้เรียนรู้การสัมผัสพื้นผิว ที่แตกต่างกันของวัตถุ จากการจับ , กัด , ดูด หรือเลีย 
  
พ่อแม่หรือผู้ใหญ่บางท่าน อาจไม่เข้าใจถึงพฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ จึงจำกัด หรือห้ามปราม  ไม่ให้เด็กเอาของเข้าปาก อาจเพราะกลัวสกปรกหรือสำลัก  ซึ่งจะทำให้เด็กหงุดหงิด , อารมณ์เสีย และไม่เกิดการเรียนรู้  ดังนั้นพ่อแม่ และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดควรเข้าใจ ในพฤติกรรมของเด็ก และส่งเสริมการเรียนทักษะเหล่านี้ ให้ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งดูแลเรื่องความปลอดภัย ในการเล่นของลูก โดยเฉพาะอุปกรณ์การเล่น ควรที่จะมีขนาดใหญ่ สีสันปลอดภัย จับ / กำถนัดมือ สามารถให้เด็กได้สัมผัสผ่านการกัด , ดูด , เลียได้   ขนาดและน้ำหนัก ต้องเหมาะสมกับเด็กแต่ละคน  สามารถล้าง / ซัก อุปกรณ์ของเล่นได้ เมื่อสกปรก ตลอดทั้งพ่อแม่ ควรมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ระหว่างการเล่นอีกด้วย อย่าปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียว เพราะเด็กยังไม่รู้จักว่าของเล่นแต่ละชิ้น มีวิธีการเล่นอย่างไร
           
ความหมายของการเล่น
     
     การเล่นเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ และเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเกิดการรับรู้ที่ดี ตลอดทั้งให้เด็กได้เรียนรู้ ตัวเองและบุคคลอื่นโดยไม่รู้ตัว  และนอกจากนี้ การเล่นยังมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง และระบบประสาทอีกด้วย

ประโยชน์ของการเล่น

1.       ช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาการในทุกด้าน
2.       ช่วยเสริมสร้างการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5
3.       ช่วยพัฒนาด้านสติปัญญา เสริมสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
4.       ช่วยพัฒนาความสามารถในด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะคำศัพท์
5.       ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง
6.       ช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีทางสังคม เช่น การแบ่งปัน (sharing) การผลัดเปลี่ยน (turn taking) การช่วยเหลือ (co-operation) การอดทนต่อการรอคอย ความยืดหยุ่น (flexibility)
7.       ช่วยเสริมสร้างให้เด็กรู้จักตนเองได้ดีขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ได้กระทำ
8.       ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดี
9.       ช่วยพัฒนาและส่งเสริมบทบาททางเพศ และบทบาทสมมุติ
10.    ช่วยพัฒนาและเสริมสร้างความสนใจและสมาธิ

     การเลือกของเล่น ให้เหมาะกับความสามารถของเด็ก ในแต่ละวัย มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กเป็นอย่างมาก พ่อแม่ หรือผู้ดูแล จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเลือกสรรของเล่น และจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อเด็ก ให้เกิดศักยภาพในการเรียนรู้  โดยคำนึงถึง

1.       ความปลอดภัย
2.       ความเหมาะสมกับอายุและพัฒนาการของเด็ก
3.       ความสนใจของเด็ก
4.       ความสะอาด
5.       ความเหมาะสมของราคา
6.       วิธีการเล่น

อุปกรณ์ของเล่นและเกมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษวัย 0-1ปี


1.วงแหวนที่มีลักษณะพื้นผิวแตกต่างกัน อาจเป็น พลาสติกแข็ง , ยางนิ่ม หรือผ้า ฯลฯ  (อายุ 3-8 เดือน)
เด็กวัยนี้มักนำของเล่นเข้าปาก  ใช้ปากในการดูด อม เลีย ใช้เหงือกย้ำ กัดเล่น เพื่อฝึกความแข็งแรงของเหงือก และยังอาจสามารถลดอาการเจ็บขณะที่ฟันของเด็กวัยนี้กำลังขึ้นได้ โดยนำวงแหวนพลาสติกยางไปแช่ตู้เย็น ความเย็นจากยางจะลดอาการเจ็บได้ขณะที่เด็กกัดเล่น

2.  โมบายพวงวัสดุที่เป็นรูปสัตว์ หรือดอกไม้ ที่มีสีสันสดใส แขวนไว้ที่หัวเตียงหรือเปล ซึ่งอาจมีเสียงดนตรีประกอบด้วย (อายุ 3-5 เดือน)

เพื่อฝึกการใช้สายตาในการมองวัตถุขณะเคลื่อนไหว  ขณะที่เด็กนอนเล่นอยู่บนเตียง แขวนโมบายอยู่เหนือศีรษะเด็กเพื่อให้เด็กได้ใช้สายตามองดูขณะของเล่นแกว่งไปมา เด็กจะสนใจมองดูการเคลื่อนไหวของวัตถุ และยังสามารถฝึกการฟังเสียงดนตรีของเครื่องเล่นอีกด้วย

3. ตุ๊กตายางผิวหยาบหรือนิ่ม อาจทำจากผ้าหรือพลาสติกยางซึ่งอาจบีบมีเสียง / ไม่มีก็ได้ (อายุ 4-12 เดือน)

เพื่อฝึกคว้าจับและ สัมผัส โดยใช้ของเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสที่ต่างกัน เด็กวัยนี้ชอบจับสัมผัส ลูบ คลำ บีบเล่น หรือโยนเล่น กลิ้งเล่น   และฝึกการฟังเสียง ต่างๆกันของของเล่นขณะบีบ เขย่า เคาะ  ตลอดทั้งฝึกจับของเล่นเปลี่ยนมือได้อีกด้วย

4.เครื่องเขย่าให้เกิดเสียง ได้แก่ กรุ๋งกริ้ง ,กระดิ่ง ซึ่งอาจมีขนาดและน้ำหนักที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน (อายุ  3-12 เดือน) เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือในการจับและคว้าของเล่น  ฝึกการฟังเสียงของของเล่นที่มีความแตกต่างกัน เด็กวัยนี้ชอบคว้า จับ เขย่า เคาะ ของเล่นเพื่อให้เกิดเสียงต่าง ๆ รวมทั้งสามารถกระตุ้นให้เด็กได้สนใจมองขณะที่เด็กมีกิจกรรมในการจับเขย่า เคาะเล่นอีกด้วย


5.กระจกเงา (อายุ 4-12 เดือน)

เพื่อฝึกการมองและการสังเกต การเคลื่อนไหวของหน้าตา และท่าทางขณะมองเล่นเด็กวัยนี้มักชอบมองเงาตัวเอง และสิ่งอื่น ๆ ในกระจก

6. ของเล่นไขลาน เช่น  ลูกเป็ด ลูกไก่  และอื่น ๆซึ่งอาจมีเสียงดนตรีประกอบ

ขณะที่ของเล่นไขลานเคลื่อนไหว เด็กสนใจและมองตามการเคลื่อนไหวของของเล่นเหล่านั้น ตลอดทั้งกระตุ้นให้เด็กเกิดการเคลื่อนไหวตัวเองอีกด้วย เช่น เด็กอาจจะคืบ , คลาน หรือ เกาะเดิน , เหนี่ยวตัวลุกยืน เกาะยืน เพื่อให้ได้ของเล่นเหล่านั้น

7. วัสดุรูปทรงเรขาคณิต อาจเป็นผ้า ,กล่องสีต่าง ๆ ,ก้อนไม้ หรือ ก้อนพลาสติกที่มีขนาดต่างกัน

เพื่อฝึกการสังเกตรูปร่าง  รูปทรง และจับกำ ซึ่งภายในกล่องสีต่าง ๆ อาจใส่เม็ดถั่ว / เม็ดพลาสติก ไว้ข้างในได้ เมื่อเด็กเขย่า / เคาะ แล้วเกิดเสียง เพื่อกระตุ้นการฟัง และความสนใจของเด็กในขณะเล่น ของเล่นมากขึ้น

8. หมุดหรือไม้สี ซึ่งมีขนาดใหญ่ อาจทำด้วยไม้หรือ พลาสติก พร้อมกระดานมีรู

เพื่อเสริมสร้างการใช้ปลายนิ้ว ในการหยิบ หรือยัดนิ้วใส่ลงในรู หรือในช่องที่เจาะไว้บนกล่อง เด็กวัยนี้เริ่มใช้ปลายนิ้ว หยิบ หรือใช้นิ้วยัดใส่รู หรือช่องที่เจาะไว้

 9. เกมจ๊ะเอ๋(อายุ 7 เดือน – 1 ปี)
เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักการค้นหาวัตถุที่หายไป ตลอดทั้งฝึกความสนใจ ,สมาธิในการฟังจังหวะของเสียง และยังเป็นการเสริมสร้างปฎิสัมพันธ์ ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ด้วย  โดยผู้ใหญ่อาจใช้มือ , ผ้า หรือกระดาษปิดหน้าตัวเอง หรือปิดหน้าเด็ก และเมื่อเปิดมือ ผ้า หรือกระดาษออกพร้อมกับพูดคำว่า “จ๊ะเอ๋”  ซึ่งน้ำเสียงที่ใช้ควรจะเร้าอารมณ์เด็กให้เกิดความสนุกสนานด้วย ซึ่งเด็กจะมองหาหน้าผู้ใหญ่ที่หายไปในขณะเล่น

10. เกมปูไต่
เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กได้รับการฟังเสียง ฝึกความสนใจ มีการจับจ้องมองหน้าแม่ ตลอดทั้งได้รับรู้ถึงการสัมผัสจากวัตถุที่มีความแตกต่างกันของพื้นผิว สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก รวมถึงพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีของเด็กด้วย โดยผู้ใหญ่ใช้ปลายนิ้ว หรือของเล่น หรือวัสดุที่มีพื้นผิวต่าง ๆ กัน เช่น ผ้า , ฟองน้ำ , ตุ๊กตายางไล้ไปบนผิวเด็กในทุกจุดของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ขณะเล่นเกมผู้ใหญ่ควรพูดคุย หัวเราะ และยิ้ม สร้างบรรยากาศให้เด็กสนุกสนานไปด้วย ตลอดทั้งจุดต่าง ๆ ที่ลูบไล้ / สัมผัสไปบนผิวเด็กควรบอกให้เด็กได้รับรู้ด้วย เช่น “แม่กำลังลูบไล้มือของลูกนะ”  อาจร้องเพลงขณะเล่นปูไต่ด้วยก็ได้

11. เกมจับปูดำ (อายุ 9-12 เดือน)

เกมนี้เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือในการเปิด – ปิดมือหรือกำ – แบมือ ตลอดทั้งเด็กเริ่มสามารถเลียนแบบท่าทางกำมือ แบมือจากพ่อแม่ในขณะเล่นเกมนี้ โดยขณะเล่นผู้ใหญ่ควรร้องเพลง “จับปูดำขย้ำปูนา จับปูม้า มาคว้าปูทะเล”ร่วมด้วย  เด็กจะเกิดความสนุกสนาน และสร้างเสริมการมี ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย รวมทั้งเป็นการฝึกการฟัง ความสนใจ และสมาธิให้กับเด็กอีกด้วย

12. เกมตบมือเปาะแปะ (อายุ 9-12 เดือน)
เกมนี้เพื่อฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมือทั้ง 2 ข้าง และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในขณะเล่นด้วย ตลอดทั้งให้เด็กฝึกฟังจังหวะในขณะตบมือ และเพิ่มความสนุกสนานให้กับเด็กอีกด้วย  โดยผู้ใหญ่จับมือเด็กมาตบมือกันหรือ เด็กตบมือเอง เมื่อผู้ใหญ่กระตุ้นให้เด็กทำตาม อาจใช้คำกลอน หรือ เพลงที่เกี่ยวข้องกับการตบมือมาประกอบด้วยก็ได้  เช่น คำกลอน “ตบมือเปาะแปะ เรียกแพะมากินนม นมไม่หวานเอาน้ำตาลมาใส่ “ หรือเพลงตบมือ “ เรามาตบมือกันดีกว่า( 3 ครั้ง ) แล้วเราชวนกันร้องเพลง “  


13.เกมค้นหาของเล่น

เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กได้รู้จักใช้ความคิดในการแก้ปัญหาอย่างง่าย ในการค้นหาของเล่น ซึ่งผู้ใหญ่อาจช่วยชี้แนะได้บ้าง เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกถึงความสำเร็จในการทำงาน ตลอดทั้งเด็กได้รับการฝึกประสบการณ์เรื่องการคงอยู่ของวัตถุ (Object Permanent) โดยผู้ใหญ่ใช้ผ้าหรือกระดาษปิดของเล่นในขณะที่เด็กเล่นอยู่ อาจจะปิดบางส่วน หรือปิดทั้งหมดของของเล่นก็ได้ ซึ่งเด็กจะพยายามค้นหาของเล่นโดยการดึงผ้า หรือกระดาษออก


14. กระบะใส่ทราย / ข้าวสารย้อมสี  หรือเม็ดถั่วต่าง ๆ

เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทางการจับ หยิบ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยการใช้ปลายนิ้วหยิบจับวัตถุ ที่มีขนาดต่าง ๆ กัน ตลอดทั้งเพิ่มพูนทักษะ การประสานงานระหว่างมือและตา รวมทั้งฝึกทักษะทางสังคม รู้จักมีการให้และรับ (Turn – Taking) สร้างลักษณะนิสัยที่ดีและเหมาะสม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถฝึกได้ตั้งแต่ยังเด็ก โดยการนำทราย, หรือข้าวสารย้อมสี หรือเม็ดถั่วต่าง ๆ ใส่กระบะ และใช้อุปกรณ์การเล่นทราย หรืออาจประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในครัวเรือน เช่น  จาน, ชาม, ช้อน , แก้วน้ำ ฯลฯ มาร่วมในเกมนี้  

อุปกรณ์ของเล่นและเกมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษวัย 1 – 3 ปี


1. บล็อกขนาดต่าง ๆ ประมาณ  5-6 ชิ้น อาจทำด้วยไม้ , พลาสติก หรือกระดาษแข็ง หรือเครื่องเล่น Lego   หรืออาจใช้กล่องสบู่ ,กล่องนมแทน ซึ่งสามารถวางต่อกัน หรือวางซ้อนกัน เพื่อฝึกทักษะการจับวาง , การวางซ้อน , การวางเรียง  ฝึกทักษะการใช้มือ และตา ประสานกัน , ฝึกการกะระยะ. ฝึกการสังเกต  ฝึกความคิดเปรียบเทียบขนาดต่าง ๆ ของวัตถุ

 2. กระดาน ค้อนตอก อาจทำด้วยไม้ หรือพลาสติก

เพื่อฝึกทักษะการใช้มือ ,ข้อมือ ,และท่อนแขน ตลอดทั้งการทำงานประสานงานกันระหว่างมือกับตา  ฝึกการกะระยะ   ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการใช้อุปกรณ์ของเล่นในการตอก

3. ของเล่นเป็นชิ้นที่มีขนาดต่าง ๆ กันใหญ่บ้างเล็กบ้าง หรือยาวบ้างสั้นบ้าง , อาจทำด้วยไม้หรือ พลาสติก

เพื่อฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อ มือ ,สังเกตรูปร่าง และขนาด และรู้จักการเรียงขนาดเป็นระบบ  เช่น  เรียงตามลำดับจากเล็กไปใหญ่  หรือจากสั้นไปยาวโดยเด็กสามารถเรียนรู้การจัดวางรูป  ขนาดเป็นชั้นต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

4. ของเล่นที่ทำให้เกิดเสียง เช่น กล่องดนตรี , ของเล่นที่จับเขย่า , เคาะมีเสียง หรือ เครื่องดนตรีประเภทKeyboard ,กรับพวง ฯลฯ เพื่อฝึกความสนใจฟังเสียงต่าง ๆ  จากเครื่องดนตรี และสนุกสนาน  ฝึกสมาธิและความสนใจ   ตลอดทั้งฝึกการใช้มือ นิ้วมือ ในการกด , เคาะ หรือตี


5.บอลผ้า / ลูกบอลพลาสติกยาง หรือแป้นหลักใส่ห่วง

เพื่อฝึกการกะระยะใช้สายตาประสานกับ มือ – แขน  ในการโยน, กลิ้ง , ปา  ลงเป้าหมาย  (อาจเป็นบุคคล  หรือ  ตะกร้า  หรือ ลัง )  ได้คล่องแคล่ว แม่นยำ

6.ของลากจูง เช่น สัตว์ต่าง ๆ ,  รถ ,เรือ ,รถไฟ มีเชือกร้อยให้เด็กลากจูง

เพื่อฝึกความคล่องแคล่วของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ในการเดินหรือวิ่งลากจูงของเล่นไป-มาอาจจะเคลื่อนไหวช้า – เร็ว แล้วแต่ความสามารถและความสนใจของเด็กแต่ละคน

7.อุปกรณ์เล่นทราย เช่น พลั่ว ,ช้อน ,ถังพลาสติก ใช้เล่นกับทราย หรือ ข้าวสารย้อมสี หรือ เม็ดถั่วต่าง ๆ

เพื่อฝึกการใช้มือ,นิ้วมือ ,แขน และการทำงานประสานกันระหว่างมือ และ ตา ตลอดทั้งทักษะทางสังคมในการแบ่งปัน การให้ – รับ (Turn – Taking) ระหว่างบุคคลอื่นอาจดัดแปลงใช้กับอุปกรณ์ในครัวเรือนได้เช่น ช้อน, จาน, ถ้วย

8. หนังสือรูปภาพ อาจทำด้วยกระดาษแข็งอย่างดี  ,ทำด้วยผ้า , ทำด้วยพลาสติกรวมทั้ง โปสเตอร์ภาพสัตว์ต่าง ๆ และอื่น ๆ

เพื่อฝึกการใช้มือ นิ้วมือ ข้อมือ ในการพลิกหน้าหนังสือ และใช้นิ้วชี้รูปภาพต่าง ๆ ตลอดทั้งทักษะด้านความเข้าใจภาษา และการพูด

9. ภาพตัดต่อ (Jigsaw) ควรมีจำนวน 3 – 6 ชิ้น อาจทำด้วยพลาสติก ,ไม้ , กระดาษแข็งอย่างดี

เพื่อฝึกให้เด็กสังเกต , เปรียบเทียบ ฝึกการคิดแบบบูรณาการ(ภาพรวม) ,ฝึกการจำ โดยการนำชิ้นส่วนของภาพมาต่อเรียงกัน เพื่อเกิดภาพได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เสริมสร้างความรู้สึกทีดีต่อตัวเอง(Self - esteem)

10. สีเทียน , สีเมจิกแท่งใหญ่  ขีดเขียนบนกระดาน หรือกระดาษ

เพื่อใช้ขีดเขียน ในลักษณะที่ไม่เป็นรูปร่างใด ๆ ทั้งสิ้น เด็กจะขีดเขียนเอง และสร้างสรรค์จินตนาการของตัวเอง โดยเด็กเริ่มจับดินสอในลักษณะของมือกำ ต่อมาจึงจับในลักษณะของการใช้นิ้วมือได้ในที่สุด และเริ่มเขียนแบบมีรูปร่างทางเรขาคณิตมากขึ้น คือ ขีดเส้นตรง และวงกลม เพื่อฝึกทักษะการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อนิ้วมือ ข้อมือ และท่อนแขน ตลอดทั้ง ฝึกการคิดจินตนาการต่าง ๆ

11.ของเล่น Pop – Up  ที่เป็นรูปสัตว์

เพื่อฝึกการทำงานของนิ้วมือ , มือ ในการกด ,หมุน ,บิด , ดึง ตลอดทั้งสร้างเสริมทักษะของพัฒนาการทางภาษา ในด้านความเข้าใจ และการพูด รวมทั้งสร้างความสนใจ และสร้างสมาธิ

12. เกมวาดรูปจากนิ้วมือ (Finger Painting) อาจใช้สีน้ำ , สีโปสเตอร์ หรือกาวน้ำ / แป้งเปียกผสมสี

เกมนี้เพื่อกระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ นิ้วมือ  , มือ ตลอดจนการประสานงานของตาและมือ  สามารถกระตุ้นความสนใจ,สร้างสมาธิในขณะทำกิจกรรม และฝึกงานด้านความคิดสร้างสรรค์  โดยให้เด็กใช้นิ้ว หรือมือในการละเลงสีน้ำ ,สีโปสเตอร์ ,สีแป้งเปียก  ลงบนกระดาษหรือกระดาน

13. เกมจำจี้มะเขือเปาะ

เพื่อฝึกการสร้างความสัมพันธ์ กับบุคคลอื่น ๆ โดยผู้ใหญ่ หรือเด็กจะเป็นผู้นำเกม ใช้นิ้วจิ้มลงบนนิ้วมือของผู้เล่นทีละนิ้ว พร้อมกับร้องเพลง “จ้ำจี้มะเขือเปาะ” เป็นการฝึกการฟัง สร้างความสนใจ และการมีสมาธิในการเล่นกิจกรรม ตลอดทั้งได้รับการเสริมทักษะพัฒนาการด้านภาษา และรู้จักกติกาอย่างง่ายในการเล่น



สรุป

การเล่นของเด็กในวัยนี้ควรอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอดเวลา แต่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำ และเรียนรู้จากการกระทำด้วยตนเอง ให้โอกาสเด็กได้ฝึกความสามารถในการคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้แนะ หรือให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง (Self  - Esteem) รู้ว่าตนเองมีคุณค่าซึ่งจะสามารถพัฒนาให้เกิดความมั่นใจ และมีบุคลิกภาพที่ดีต่อไปในอนาคต   นอกจากนี้เด็กยังมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบลองผิดลองถูก และต้องการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่แปลกใหม่ด้วยตัวเอง ตลอดทั้งยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Ego centric)  ไม่ชอบให้ใครมาสั่งหรือบังคับ จึงอาจแสดงออกโดยการต่อต้าน เช่น ขัดใจลงไปนอนดิ้น  ร้องกวนอาละวาด หากพ่อแม่รู้จักหลอกล่อหรือเบี่ยงเบนความสนใจ ก็จะลดพฤติกรรมเหล่านั้นได้ 

ประภาศรี นันท์นฤมิต
หน่วยพัฒนาการและการเจริญเติบโต
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์                                                                                    
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

แม่รักลูกนะ - พัฒนาการทารก, พัฒนาการเด็ก, เล่นกับลูก, เมนูอาหารเด็ก, คู่มือเลี้ยงลูก, ดูแลเด็ก Copyright © 2010 Designed by Ipietoon Blogger Template Sponsored by Emocutez